วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เรียนชีวิต


เรียนชีวิต อย่าแสวง จากแหล่งนอก
อย่าเข้าไป ในคอก แห่งศาสตร์ไหน
อย่ามัวคิด ยุ่งยาก ให้ผากใจ
อย่าพิจารณา จาระไน ให้นุงนัง

อย่ายึดมั่น นั่นนี่ ที่เรียกกฎ
มันตรงตรง คดคด อย่างหมดหวัง
จงมองตรง ลงไปที่ ชีวิตัง
ดูแล้วหยั่ง ลงไป ในชีวิต

ให้รู้รส หมดทุกด้าน ที่ผ่านมา
ให้ซึมซาบ วิญญาณ์ อย่างวิศิษฎ์
ประจักษ์ทุกข์ ทุกระดับ กระชับชิด
ปัญหาชีวิต จะเผยออก บอกตัวเองฯ

โดย พุทธทาส  อินฺทปญฺโญ


----------------------------
หากเราถูกถามว่า ห้องเรียนอะไรคือห้องเรียนที่ดีที่สุด หลากหลายภาพในความทรงจำคงค่อย ๆ ผุดขึ้นมาภายในห้องสี่เหลี่ยมบ้าง สนามในโรงเรียนบ้าง อาจเป็นภาพครูฝึกสอนใจดีในวิชาศิลปะ, ภาพในห้องทดลองชั่วโมงวิทยาศาสตร์, ภาพตอนได้เรียนรู้วัฒนธรรมกับนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ, ภาพตอนเล่นชิงช้าในสนามเด็กเล่น, ภาพในสนามฟุตบอลชั่วโมงพละศึกษา ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นความทรงจำที่ดี นึกแล้วพาให้ยิ้มไป ขำไป ทำตาพริ้ม ๆ อย่างสุขใจ เพราะห้องเรียนที่ดีที่สุดของเราเหล่านั้นล้วนซุกซ่อนความประทับใจหลากหลายความทรงจำจนจดจำได้ไม่ลืมเลือน อาจเป็นเพราะเราได้เกรดดีในวิชานั้น เราได้พบเพื่อนซี้ตอนที่เรียนวิชานี้ คุณครูให้คะแนนเราเป็นที่หนึ่งของห้อง แต่ก็ยังเป็นอะไรที่ถูกจำกัดอยู่ในห้องหรือสนามรูปทรงเรขาคณิต 

กับบางคนที่ผ่านหนาวผ่านฝนมาหลายฤดูหรืออาจด้วยประสบการณ์ชีวิตที่มากขึ้น อาจพาให้นึกไปถึงห้องเรียนนอกกรอบเหลี่ยม ๆ ที่เกริ่นไว้ข้างต้น ก็คือห้องเรียนชีวิตในชีวิตประจำวันต่าง ๆ อาจเป็นในที่ทำงาน, บนรถไฟฟ้า, ในโรงหนัง, โรงพยาบาล, ห้องเรียนโยคะ วัด หรือแม้แต่ในบ้านของเราเอง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นที่ที่เราสามารถเรียนรู้และเก็บความทรงจำที่ดีไว้จนรู้สึกว่านั่นแหละตอนนั้นเองที่เป็นห้องเรียนที่ดีที่สุดของเรา

และกับบางคนห้องเรียนที่ดีที่สุดน่าจะเป็นห้องเรียนที่อยากเปิดใช้เมื่อไรก็ใช้ได้ทุกเมื่อ เป็นห้องเรียนที่เราเป็นเจ้าของเอง สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ให้ความรู้ได้ต่อเนื่อง ไม่ต้องลงทะเบียนเรียนเสียค่าหน่วยกิต มีขนาดไม่ใหญ่โตนักพกพาไปได้สะดวก ซึ่งเราทุกคนต่างก็มีห้องเรียนที่ดีที่สุดอันประกอบไปด้วยคุณสมบัติที่ดีเลิศทุกอย่างข้างต้น แต่น่าเสียดายเหลือเกินที่ห้องเรียนเหล่านั้นมักจะถูกปิดตายไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า อาจเป็นเพราะด้วยความเคยชินที่มันอยู่กับเราตลอดเวลา มันอยู่ข้างใน ขี้เกียจรื้อออกมา หรือขนาดมันเล็กเกินไป

เพราะมีคำเปรียบเทียบเรื่องขนาดของห้องเรียนนี้ว่ามีขนาดแค่ หนาคืบ กว้างศอก ยาววา แค่นั้นเอง ห้องเรียนที่ดีที่สุดที่ว่าเป็นห้องเรียนที่ชื่อว่า "ร่างกาย" นั่นเอง ซึ่งภายในประกอบไปด้วยจิตใจ หรือตรงตามบัญญัติในทางพระพุทธศาสนาว่า "ขันธ์ 5" (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) 

หากพิจารณากันในเชิงลึกดีดี ด้วยองค์ประกอบทั้ง 5 ล้วนแล้วแต่ประกอบด้วยตัวทุกข์ทั้งสิ้น เราจึงละเลย ปฏิเสธที่จะเรียนรู้ ทำความรู้จักกับมันจริง ๆ เพื่อนำไปสู่การตกผลึกของความรู้อันแท้จริงว่า ทุกข์ไม่ได้มีไว้ให้ยึด ไม่ได้มีไว้ให้เป็น แต่ทุกข์มีไว้เพียงแค่ให้เราเป็นผู้เห็น มีไว้ให้เราเป็นผู้ดู อย่างที่มันเป็น นั่นก็คือหาสาระแก่นสารในทุกข์ไม่ได้เลย มันเกิดขึ้นมา เพื่อตั้งอยู่ และเพื่อดับไป ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยิ่งเห็นบ่อย ยิ่งดูบ่อย ก็วิ่งปล่อยวาง คลายจากความยึดมั่นถือมั่นมากเท่านั้น ให้ความรู้สึกของใครหลาย ๆ คนที่เคยฝึกเจริญมรณานุสติในท่าศพ ที่มีสติรู้เท่าทัน ไม่หลงเคลิบเคลิ้ม เผลอหลับไป ในทางกลับกันหากทุกข์เกิดขึ้นมา เราเข้าไปเป็น เข้าไปยึดไว้โดยรู้ไม่เท่าทันมัน ก็ยิ่งทุกข์มากขึ้น

จากการที่ข้าพเจ้ามีความรู้ในศาสตร์ของโยคะแห่งสติ จึงเป็นเหตุปัจจัยที่เกื้อกูลต่อการเรียนรู้ความเป็นจริงของชีวิตมากขึ้น เพราะเมื่อฝึกท่าอาสนะเพื่อสร้างสมดุล เช่นคันไถครึ่งตัวที่ทำแล้วรู้สึกบีบคั้นกับความไม่สบายทางกายที่อยู่ในสภาวะที่ทนอยู่ได้ยาก

 ดังนั้นขณะที่กำลังฝึกอาสนะนั้นถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งในการเรียนรู้แบบจำลองชีวิต ที่มีทั้งความรู้สึกทุกข์ สุข เฉย ๆ โดยใช้ร่างกายที่เคลื่อนไหวไปในอาสนะต่าง ๆ พร้อม ๆ ไปกับการรับรู้การเคลื่อนไหวของจิต โดยใช้ใจเป็นผู้ดู เป็นผู้เห็น โดยไม่เข้าไปแทรกแซง ไม่เข้าไปปรุงแต่ง ไม่เข้าไปเป็น ค่อย ๆ ฝึกตามรู้เท่าทันให้เห็นการวางตำแหน่งของใจตามความเป็นจริง แล้วนำไปสู่ใจที่วางแล้วที่มีความเป็นกลางมากขึ้น ๆ ตามลำดับ เห็นความเชื่อมโยงของจังหวะลมหายใจที่อยู่ระหว่างกายกับใจในสถานการณ์ต่าง ๆ เมื่อนั้นพลังแห่งการปล่อยวางในขณะที่เราอยู่กับปัจจุบันจะปรากฎให้เห็นเด่นชัด ไม่เพียงแต่ความรู้สึกทุกข์เท่านั้นที่ปล่อยวางได้ แม้แต่ความสุขที่ไม่ใช่สุขแท้ เป็นสุขที่เราอยากได้เพิ่ม แม้ไม่ได้ก็ทุกข์ นั่นคือสุขเทียม ก็ไม่สามารถพันธนาการกับจิตใจของเราได้

เราอาจทดสอบพลังแห่งการปล่อยวางในห้องเรียนที่ดีที่สุดด้วยตัวเองในวิธีง่าย ๆ โดยการใช้มือซ้ายกำข้อมือขวา แล้วรับรู้ความรู้สึกเปรียบเทียบตอนที่มือขวากำอยู่ (ยึดมั่น ถือมั่น) กับตอนที่มือขวาค่อย ๆ กางมือเหยียดนิ้วคลายออก(ปล่อยวาง) แล้วรับรู้ความรู้สึกจากมือซ้ายว่าตอนไหนเรารับรู้ว่ามีพลังมากกว่ากันระหว่างพลังแห่งการยึดมั่นถือมั่น หรือพลังแห่งการปล่อยวาง


เขียนโดย ; ดล เกตน์วิมุต (ครูดล) 

โยคะสารัตถะ ฉ.; เม.ย.'๕๒
จาก http://www.gotoknow.org