วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กาพย์ยานี 11

ลักษณะของกาพย์ยานี 11 ใน 1 บท มี 2 บาท  1 บาท มี 2 วรรค วรรคหน้า มี 5 คำ วรรคหลังมี 6 คำ รวมเป็น 11 คำ จึงเรียกว่า กาพย์ยานี 11   กาพย์ยานี 11 หนึ่งบท จะมี 22 คำ ซึ่งในการประพันธ์นั้นต้องประพันธ์อย่างน้อย 1 บท หรือ 4 วรรคเสมอ

แผนผังกาพย์ยานี 11


ตัวอย่างกาพย์ยานี 11 (1)

ขึ้นกกตกทุกข์ยาก              แสนลำบากจากเวียงชัย
มันเผือกเลือกเผาไฟ          กินผลไม้ได้เป็นแรง

รอนรอนอ่อนอัสดง            พระสุริยงเย็นยอแสง
ช่วยดังน้ำครั่งแดง              แฝงเมฆเขาเมรุธร

ตัวอย่างกาพย์ยานี 11 (2)

โลกมนุษย์สุดซึ้ง               เราควรพึงสังวรณ์ไว้
สิ่งใดที่ผ่านไป                   ควรทำใจไม่จดจำ

ในวันทุกวันนี้                     จากคำที่จำนรรจา
หลอกลวงด้วยมายา          อนิจจาน่าเศร้าใจ

พูดคำก็กลับกลอก              ทั้งหลอนหลอกและเหลวไหล
สอพลอส่อเสียดไป            ใส่ไคร้ให้ไม่กลัวกรรม

ความดีควรทำบ้าง             เวลาว่างก็ทำธรรม
ศีลห้าน่าจะนำ                    มาปฏิบัติขัดจิตใจ

เมืองไทยจะน่าอยู่              เพราะทุกผู้รู้จักให้
โอ้ฉันนั้นหวังไว้                 ว่าคนไทยเข้าใจดี

ประพันธ์โดย น้ำใจ ใจดี

สาลินีฉันท์ 11

นีฉันท์ แปลว่า ฉันท์ที่มากไปด้วยครุซึ่งเปรียบเหมือนแก่นหรือหลัก

รูปแบบการแต่ง   

มี 4 วรรค  วรรคหน้า 5 คำ  วรรคหลัง 6 คำ แต่งโดยใช้คำครุ (สระ อะ)  ลหุ (สระอุ) ในการแต่ง การสัมผัสจะเป็นคำสุดท้ายของวรรคที่ 2 สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ 3 (ดูแผนผังประกอบ)

แผนผังของสาลินีฉันท์ 11



ตัวอย่างสาลินีฉันท์ 11 (1)

เกียจคร้านทำการงาน           บ่มีบ้านจะอาศัย
เกิดมาเป็นคนไทย                 ฤควรท้อระย่องาน

ตัวอย่างสาลินีฉันท์ 11 (2)



ตัวอย่างสาลินีฉันท์ 11 (3)

ยลเนตร์แลเกษแก้ม              กละแย้มสุมาลี
ยลพักตร์ดั่งเพ็ญศรี               ศศิเด่นณะเพ็ญวัน

ยลศอลออเอี่ยม                   ยละเยี่ยมยุคลกัน
ยลกรบังอรปาน                    ละก็งวงคเชนทร

ยลเอวเอวอ่อนเอื้อ              ดุจะเกื้อฤทัยถอน
ยลนาฏเมื่อยาตร์จร              มยุร์เยื้องก็ปานกัน

ยลรูปยิ่งราคเร้า                    มนะผ่าวฤดีหรรษ์
ยลร่างดั่งอินทร์สรร              สถิต์ฐาปนานวล

ยลจริตเมื่อหล่อนอาย           ก็ลม้ายมนัสกวน
ยลโฉมภิรมย์ชวน                 ชิระแรกกำดัดงาย

ยลสร้อยที่ห้อยคล้อง           ดุจะน้องน๊ะคล้องชาย
ยลโสตร์ที่แกว่งไกว             ดุจะกวักพะยักชม

ยลสายเข็มขัดรัด                  ดุจะมัคกมลโทรม
ยลแหวนก็แสนสม                 ดุจะส่อแสวงชาย

ที่มา: หนังสือกายนคร

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วสันตดิลกฉันท์ ๑๔

วสันตดิลก หมายถึง รอยแต้มที่กลีบเมฆในฤดูฝน น่าจะหมายถึง ฉันท์อันมีลีลาว่าฤดูฝนได้เริ่มต้นแล้ว

คณะและพยางค์
ฉันท์ บทหนึ่งมี  ๒  บาท  บาทหนึ่งมี  ๒ วรรค  วรรคต้นมี ๘ คำ วรรคท้ายมี ๖ คำรวมทั้งบาทมี ๑๔ คำ

สัมผัส  มีสัมผัสในบทสองแห่ง  คือ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑  สัมผัสกับคำที่ ๓  ของวรรคที่  ๒  และ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒  สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓

สัมผัสระหว่างบท  คือ  คำสุดท้ายของบท  สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ของบทต่อไป

คำครุ  ลหุ  บทหนึ่งมีคำครุทั้งหมด  ๑๔  คำ  คำลหุ  ๑๔  คำ  บังคับ ครุ และลหุ ตามที่เขียนไว้ในแผน


ตัวอย่างวสันตดิลกฉันท์ ๑๔ (1)

เสนออรรถพิพัฒนศุภมง              คลลักษณ์ประจักษ์ความ
ครบสี่และมียุบลตาม                    ชินราชประกาศแสดง
ชาติชายไฉนจะละอุสา                 หะมิกล้าจะฝึกปรือ
ปราศวิทย์เพราะปราศวิริยะคือ      พิณแห้งพินิจเห็น

ตัวอย่างวสันตดิลกฉันท์ ๑๔ (2)

แสงดาววะวาวระกะวะวับ              ดุจะดับบเดนดวง
แขลับก็กลับพิภพรสรวง                มิสรพรึบพะพราวเพรา
เคยเห็น ณ เพ็ญพระรศมี               รชนีถนัดเนา
เหนือนั่นแน่ะจะสละเงา                 กลเงินอร่ามงาม

โดย : ชิต  บุรทัต

อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ จะมีแบบแผนเหมือนกับ กาพย์ยานี ๑๑  แต่เพิ่ม ครุ,  ลหุ เข้าไป อินทรวิเชียร แปลว่า เพชรพระอินทร์ หมายถึง ฉันท์ที่มีลีลาอย่างเพชรของพระอินทร์ นิยมใช้แต่งข้อความที่เป็นบทชมหรือบทคร่ำครวญนอกจากนี้ยังแต่งเป็นบทสวด หรือพากย์โขนด้วย

คำครุ
หมายถึง คำที่ประสมด้วยสระเสียงยาวในแม่ ก กา เช่น กา ตี งู กับคำที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นหรือยาวก็ได้ที่มีตัวสะกด เช่น นก บิน จาก รัง นอน และคำที่ประสมด้วยสระ อำ ไอ ใอ เอา ซึ่งถึอว่าเป็นเสียงมีตัวสะกด

คำลหุ
หมายถึง คำที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นในแม่ ก กา เช่น จะ ติ มุ เตะ และคำที่ใช้พยัญชนะคำเดียว เช่น ก็ บ่ ณ ธ นอกจากนี้คำที่ประสมด้วย สระอำ บางทีก็อนุโลมให้เป็นคำลหุได้ เช่น ลำ
คำลหุ เวลาเขียนเป็นสัญลักษณ์ ใช้เครื่องหมายเหมือนสระอุ แทน

แผนผังของอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

ั ั ุ ั ั           ุ ุ ั ุ ั ั
ั ั ุ ั ั           ุ ุ ั ุ ั ั

ตัวอย่างอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ (1)

เสนอโทษะเกียจคร้าน            กิจการนิรันดร
โดยอรรถะตรัสสอน                กลหกประการแถลง

ตัวอย่างอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ (2)

ราชาพระมิ่งขวัญ            สุนิรันดร์ประเสริฐศรี
ไพร่ฟ้าประดามี              มนชื่นสราญใจ
ทรงเป็นบิดรราษฎร์         กิติชาติขจรไกล
กอปรบารมีชัย                ชุติโชติเชวงเวียง

ตัวอย่างอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ (3)

พวกราชมัลโดย             พลโบยมืใช่เบา
สุดหัตถแห่งเขา             ขณะหวดสิพึงกลัว
บงเนื้อก็เนื้อเต้น            พิศเส้นสรีระรัว
ทั่วร่างและทั้งตัว           ก็ระริกระรัวไหล

ที่มา: หนังสือร้อยรสพจมาน

ตัวอย่างอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ (4)

ยังเหล่าลดาวัลย์             สุวคันธบุปผา
เผยคลี่ผิคลายมา            ลยะแย้มพเยียสยาม
ก้านช่อลอออ่อน             อรชรสลอนราย
หมู่ผึ้งภมรกราย               จรเกลือกประทิ่นเกลา

ที่มา:  ชิต  บุรทัต

โคลงกลบท

โคลงกลบท คือ โคลงสุภาพ แต่ใช้วิธีรจนาคล้ายๆ กลอนกลบท คือโยกโย้เล่นต่างๆ

ตัวอย่าง

ฝนตกนกร้องร่ำ                 ครวญคราง
ครางครวญถึงนวลนาง     โศกเศร้า
เศร้าโศกร่ำแต่ปาง            ไปจาก
จากไปเรียมไฉนเจ้า          พี่เพี้ยงตรอมตายฯ

จากหนังสือ จินดามณี

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กระทู้พันธวีสติ (จาก จินดามณี)


พี่        พบ         รักษ์          ชู้          ช่าง        วิงวอน
เยาว   สวาท     ครวญ       คนึง      นอน       แนบน้อง
เจ้า     คลาศ     ป่วน         ถึง         สมร       เสมอหนึ่ง
หลบ   ภักตร์      อยู่           นาง      ข้อง       คึ่งแค้นฤาไฉนฯ

หมายเหตุ  อ่านลงมาเป็นแถว ได้ความต่อกันเป็นกลอน    และถ้าอ่านจากซ้ายไปขวาตามปกติ จะเป็นโคลง

ลักษณะโคลงกระทู้แบบนี้ ไม่ค่อยพบในหนังสือใดๆ นอกเหนือไปจากหนังสือ "จินดามณี"

ทุกข์เอ๋ย ทุกข์กาย (โครงสี่สุภาพ)


ทุกข์  กายใครที่ได้           เจอมัน
ทุกข์  เหล่านั้นกีดกัน        ทั่วด้าน
ทุกข์  อันร้ายยิ่งนั้น          คือทุกข์ใจนา
ทุกข์  ที่ทำให้ท่าน            กลัดกลุ้มจิตนาน

(บทกลอนโดย น้ำใจ ใจดี)

บทไหว้ครู

ขอประนมก้มประณตเบื้อง       เบญจางค์
ต่างประทีปกลีบประทุมวาง     หว่างเกล้า
แด่สถูปรูปสถิย์กลาง               แก้วครอบ
ขอพำนักภักดิ์พำนิตย์น้าว      หน่วงไว้ เหนือเศียรฯ

แต้มตำนานขานตำแหน่งเบื้อง    บุรพ์กาล
เรียงระเบียบเรียบระเบงบรรณ     ระบุพร้อม
เริ่มนิพัทธ์หัดนิพนธ์พันธ์            เพียรพากย์
ใช่ชำนิผลิชำนาญก้อง               เกริกด้าว แดนกวีฯ

ขอดำรงยงดำริห์เพี้ยง            เพ็ญแข
ร่ำประดิษฐ์คิดประดุจแก        เดือดช้ำ
วานสกิดจิตร์สกัดแล             เกลากิเลส
มารมล่ายคลายมฤตก้ำ         กีดเก้า โลกุดรฯ

กลกลอนกลาดเกลื่อนกลั้ว    กายนคร
ใส่สลับสับสลอน                  เลอะแท้
ลืมอุทัศน์ขาดอุธรณ์            นิรโทษ
พลั้งสฤษดิ์ผิดสลัดแท้         กลับด้วย ยินดีฯ

จาก กายนคร (ฉันท์ ขำวิไล)

กลอนไหว้ครู


ศิษย์คำนึงถึงพระคุณของคุณครู
ผู้เฝ้าดูแลชี้นำด้วยคำสอน
ศิษย์จึงบรรจงจัดคัดบทกลอน
และร้อยกรองแทนเทียนทองของบูชา

เป็นพลังสั่งสอนศิษย์คิดสิ่งถูก
เป็นเครื่องปลูกโลกกว้างทางศึกษา
ได้ความรู้เรื่องหลักอักษรา
สร้างวิชาเลื่องไปในทุกทาง