วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

บาปใหญ่ บาปลึก


พยศคน ธรรมดา ไม่น่าคิด
มันย่อมมี ประจำจิต กันอยู่ทั่ว
พยศของ คนตรง ซิน่ากลัว
มันหลอนตัว ลึกซึ้ง พึงพินิจ

ถือว่าตัว ตรงจริง จึงยิ่งยึด
ไว้เต็มอึด เรื่อยไป อยู่ในจิต
จะนอนนิ่ง ก็คลุ้มคลั่ง คอยแต่คิด
ว่า “เราถูก เขาผิด” อยู่ร่ำไป

คิดว่าดี กว่าเขา ซิเราแย่
มันเพียงแต่ ดีกว่าคน ที่บาปใหญ่
ส่วนตัวเอง บาปลึก นึกให้ไกล
มันบาปเบา อยู่เมื่อไหร่ ให้นึกดู

เขาติดซ้าย เราติดขวา ถ้ามานึก
มันยังติด เหลือลึก กันทั้งคู่
แม้ติดซ้าย เลวกว่า ไม่น่าดู
แต่ติดขวา มันก็หรู อยู่เมื่อไร

มันเพียงแต่ ดีกว่าคน ที่ยังเลว
ส่วนตัวเอง ก็ยังเหลว ไม่ไปไหน
เฝ้าเกลียดซ้าย รักขวา เป็นบ้าใจ
มันก็ไพล่ พลัดห่าง ทางนิพพาน ฯ

โดย พุทธทาส  อินฺทปญฺโญ

วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ช่างหัวมัน


จงยืนกราน สลัดทั่ว “ช่างหัวมัน”
ถ้าเรื่องนั้น เป็นเหตุ แห่งทุกข์หนา
อย่าสำออย ตะบอยจัด ไว้อัตรา
ตัวกูกล้า ขึ้นเรื่อยไป อัดใจตาย

เรื่องนั้นนิด เรื่องนี้หน่อย ลอยมาเอง
ไปบวกเบ่ง ให้เห็นว่า จะฉิบหาย
เรื่องเล็กน้อย ตะบอยเห็น เป็นมากมาย
แต่ละราย รีบเขวี้ยงขว้าง ช่างหัวมัน

เมื่อตัวกู ลู่หลบ ลงเท่าไหร่
จะเย็นเยือก ลงไป ได้เท่านั้น
รอดตัวได้ เพราะรู้ใช้ “ช่างหัวมัน”
จงพากัน หัดใช้ ไว้ทุกคนฯ

โดย พุทธทาส  อินฺทปญฺโญ

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สหายเอ๋ย !


สหายเอ๋ย "ตัวเรา" มิได้มี
แต่พอเผลอ "ตัวเรา" มี ขึ้นมาได้ 
พอหายเผลอ "ตัวเรา" ก็หายไป 
หมด"ตัวเรา" เสียได้ เป็นเรื่องดี

สหายเอ๋ย จงถอน ซึ่งตัวเรา 
และถอนทั้ง "ตัวไท" อย่างเต็มที่ 
ให้มีแต่ ปัญญา และปราณี 
อย่าให้มี "เรา - เขา" เบาเหลือเอย

โดย พุทธทาส  อินฺทปญฺโญ

วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เย็นอยู่ ด้วยจิตว่าง


จงทำงาน  ทุกชนิด  ด้วยจิตว่าง
ยกผลงาน  ให้ความว่าง  ทุกอย่างสิ้น
กินอาหาร  ของความว่าง  อย่างพระกิน
ตายเสร็จสิ้น  แล้วในตัว  แต่หัวที

ท่านผู้ใด  ว่างได้  ดังว่ามา
ไม่มีท่า  ทุกข์ทน  หม่นหมองศรี
"ศิลปะ"  ในชีวิต  ชนิดนี้
เป็น "เคล็ด" ที่ใครคิดได้ สบายเอยฯ

โดย พุทธทาส  อินฺทปญฺโญ


-------------------------
การทำงานด้วยจิตว่าง  หมายถึง  การทำงานด้วยความมีสติ  จิตใจไม่วอกแวก เหม่อลอย ปราศจากกิเลสตัณหา  มีความมุ่งมั่นในการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ


ความว่างนั้น ตรงกับภาษาบาลีว่า “สุญญตา”  

จิตว่าง  หมายถึง   จิตที่ว่างจากกิเลสตัณหา   ไม่เจือด้วย โลภะ โทสะ โมหะ   เป็นจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น  จิตที่บริสุทธิ์  จิตที่มีสติ

จิตวุ่น  เป็นคำตรงกันข้ามกับจิตว่าง   การปรุงแต่งเป็นเหตุให้จิตวุ่น นั่นเอง และทำให้เป็นทุกข์

คนเราธรรมดามีจิตว่างอยู่เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว  ไม่ใช่จิตวุ่นเป็นพื้นฐาน

วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

มองแต่แง่ดีเถิด


เขามีส่วน  เลวบ้าง  ช่างหัวเขา
จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่
เป็นประโยชน์  โลกบ้าง  ยังน่าดู
ส่วนที่ชั่ว  อย่าไปรู้  ของเขาเลย

จะหาคน  มีดี  โดยส่วนเดียว
อย่ามัวเที่ยว  ค้นหา  สหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหา  หนวดเต่า  ตายเปล่าเอย
ฝึกให้เคย  มองแต่ดี  มีคุณจริงฯ

โดย พุทธทาส  อินฺทปญฺโญ

วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ความสุข


ความเอ๋ย ความสุข 
ใครๆ ทุก  คนชอบเจ้า  เฝ้าวิ่งหา
"แกก็สุข"  ฉันก็สุข  ทุกเวลา 
แต่ดูหน้า  ตาแห้ง  ยังแคลงใจ

ถ้าเราเผา  ตัวตัญหา  ก็น่าจะสุข 
ถ้ามันเผา  เราก็ "สุก"  หรือเกรียมได้
เขาว่าสุข  สุขเน้อ!  อย่าเห่อไป 
มันสุขเย็น  หรือสุกไหม้  ให้แน่เอย

โดย พุทธทาส  อินฺทปญฺโญ


---------------------
สุขสำราญคู่กับ ทุกข์ทรมาน
ความสุขสำราญที่ไม่มีธรรมะเป็นรากฐาน ก็คือความทุกข์ทรมานที่กำลังรอเวลาอยู่ !

สุขสงบ – สุขสนุก
สุขแท้ เกิดจากความสงบเท่านั้น ส่วนที่เกิดจากความวุ่นวายนั้น เป็นเพียงความสนุก หาใช่ความสุขไม่ !

สุขแท้ – สุขเทียม
ความสุขที่แท้จริง เป็นสิ่งที่ต้องได้มาเปล่าๆ โดยไม่ต้องเสียสตางค์ เหมือนดั่งที่ตรัสว่า ถอนความรู้สึกว่าตัวตนเสียได้แล้ว ก็ได้นิพพานมาเปล่าๆ ไม่ต้องเสียมูลค่าอะไร

ส่วนความสุขเทียม หรือความเพลิดเพลินที่หลอกลวงนั้น ใช้เงินซื้อมาเท่าไรก็ไม่รู้จักพอ จนตัวตาย ก็ไม่พบกับความสุขที่แท้จริง!

ความสุขอันประเสริฐ
อย่ามุ่งหมาย ความสุขอันประเสริฐอะไรๆ ให้มากไปกว่าความปกติของจิต ที่ไม่ยินดียินร้าย ไม่ขึ้นไม่ลงไปตามอารมณ์ที่กระทบเพราะไม่มีสุขอะไรประเสริฐยิ่งไปกว่าความปกติของจิตนั้น

วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2554

รสแห่งความเปลี่ยนแปลง


สันดานจิต ชอบเวียน เปลี่ยนเสมอ
มันเฝ้าเพ้อ หาใหม่ ใฝ่กระสัน
จะเปลี่ยนรส, เปลี่ยนที่, เปลี่ยนสิ่งอัน
แวดล้อมมัน, เปลี่ยนเวลา เปลี่ยนอารมณ์

รสของความ เปลี่ยนแปลง แฝงเจืออยู่
จึงได้ดู เป็นรส ที่เหมาะสม
เป็นรสแห่ง อนิจจัง ช่างลับลม
ไม่รู้ถึง จึ่งงม ว่าเลิศดีฯ

โดย พุทธทาส  อินฺทปญฺโญ

วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เรียนชีวิต


เรียนชีวิต อย่าแสวง จากแหล่งนอก
อย่าเข้าไป ในคอก แห่งศาสตร์ไหน
อย่ามัวคิด ยุ่งยาก ให้ผากใจ
อย่าพิจารณา จาระไน ให้นุงนัง

อย่ายึดมั่น นั่นนี่ ที่เรียกกฎ
มันตรงตรง คดคด อย่างหมดหวัง
จงมองตรง ลงไปที่ ชีวิตัง
ดูแล้วหยั่ง ลงไป ในชีวิต

ให้รู้รส หมดทุกด้าน ที่ผ่านมา
ให้ซึมซาบ วิญญาณ์ อย่างวิศิษฎ์
ประจักษ์ทุกข์ ทุกระดับ กระชับชิด
ปัญหาชีวิต จะเผยออก บอกตัวเองฯ

โดย พุทธทาส  อินฺทปญฺโญ


----------------------------
หากเราถูกถามว่า ห้องเรียนอะไรคือห้องเรียนที่ดีที่สุด หลากหลายภาพในความทรงจำคงค่อย ๆ ผุดขึ้นมาภายในห้องสี่เหลี่ยมบ้าง สนามในโรงเรียนบ้าง อาจเป็นภาพครูฝึกสอนใจดีในวิชาศิลปะ, ภาพในห้องทดลองชั่วโมงวิทยาศาสตร์, ภาพตอนได้เรียนรู้วัฒนธรรมกับนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ, ภาพตอนเล่นชิงช้าในสนามเด็กเล่น, ภาพในสนามฟุตบอลชั่วโมงพละศึกษา ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นความทรงจำที่ดี นึกแล้วพาให้ยิ้มไป ขำไป ทำตาพริ้ม ๆ อย่างสุขใจ เพราะห้องเรียนที่ดีที่สุดของเราเหล่านั้นล้วนซุกซ่อนความประทับใจหลากหลายความทรงจำจนจดจำได้ไม่ลืมเลือน อาจเป็นเพราะเราได้เกรดดีในวิชานั้น เราได้พบเพื่อนซี้ตอนที่เรียนวิชานี้ คุณครูให้คะแนนเราเป็นที่หนึ่งของห้อง แต่ก็ยังเป็นอะไรที่ถูกจำกัดอยู่ในห้องหรือสนามรูปทรงเรขาคณิต 

กับบางคนที่ผ่านหนาวผ่านฝนมาหลายฤดูหรืออาจด้วยประสบการณ์ชีวิตที่มากขึ้น อาจพาให้นึกไปถึงห้องเรียนนอกกรอบเหลี่ยม ๆ ที่เกริ่นไว้ข้างต้น ก็คือห้องเรียนชีวิตในชีวิตประจำวันต่าง ๆ อาจเป็นในที่ทำงาน, บนรถไฟฟ้า, ในโรงหนัง, โรงพยาบาล, ห้องเรียนโยคะ วัด หรือแม้แต่ในบ้านของเราเอง ก็ล้วนแล้วแต่เป็นที่ที่เราสามารถเรียนรู้และเก็บความทรงจำที่ดีไว้จนรู้สึกว่านั่นแหละตอนนั้นเองที่เป็นห้องเรียนที่ดีที่สุดของเรา

และกับบางคนห้องเรียนที่ดีที่สุดน่าจะเป็นห้องเรียนที่อยากเปิดใช้เมื่อไรก็ใช้ได้ทุกเมื่อ เป็นห้องเรียนที่เราเป็นเจ้าของเอง สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ให้ความรู้ได้ต่อเนื่อง ไม่ต้องลงทะเบียนเรียนเสียค่าหน่วยกิต มีขนาดไม่ใหญ่โตนักพกพาไปได้สะดวก ซึ่งเราทุกคนต่างก็มีห้องเรียนที่ดีที่สุดอันประกอบไปด้วยคุณสมบัติที่ดีเลิศทุกอย่างข้างต้น แต่น่าเสียดายเหลือเกินที่ห้องเรียนเหล่านั้นมักจะถูกปิดตายไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า อาจเป็นเพราะด้วยความเคยชินที่มันอยู่กับเราตลอดเวลา มันอยู่ข้างใน ขี้เกียจรื้อออกมา หรือขนาดมันเล็กเกินไป

เพราะมีคำเปรียบเทียบเรื่องขนาดของห้องเรียนนี้ว่ามีขนาดแค่ หนาคืบ กว้างศอก ยาววา แค่นั้นเอง ห้องเรียนที่ดีที่สุดที่ว่าเป็นห้องเรียนที่ชื่อว่า "ร่างกาย" นั่นเอง ซึ่งภายในประกอบไปด้วยจิตใจ หรือตรงตามบัญญัติในทางพระพุทธศาสนาว่า "ขันธ์ 5" (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) 

หากพิจารณากันในเชิงลึกดีดี ด้วยองค์ประกอบทั้ง 5 ล้วนแล้วแต่ประกอบด้วยตัวทุกข์ทั้งสิ้น เราจึงละเลย ปฏิเสธที่จะเรียนรู้ ทำความรู้จักกับมันจริง ๆ เพื่อนำไปสู่การตกผลึกของความรู้อันแท้จริงว่า ทุกข์ไม่ได้มีไว้ให้ยึด ไม่ได้มีไว้ให้เป็น แต่ทุกข์มีไว้เพียงแค่ให้เราเป็นผู้เห็น มีไว้ให้เราเป็นผู้ดู อย่างที่มันเป็น นั่นก็คือหาสาระแก่นสารในทุกข์ไม่ได้เลย มันเกิดขึ้นมา เพื่อตั้งอยู่ และเพื่อดับไป ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยิ่งเห็นบ่อย ยิ่งดูบ่อย ก็วิ่งปล่อยวาง คลายจากความยึดมั่นถือมั่นมากเท่านั้น ให้ความรู้สึกของใครหลาย ๆ คนที่เคยฝึกเจริญมรณานุสติในท่าศพ ที่มีสติรู้เท่าทัน ไม่หลงเคลิบเคลิ้ม เผลอหลับไป ในทางกลับกันหากทุกข์เกิดขึ้นมา เราเข้าไปเป็น เข้าไปยึดไว้โดยรู้ไม่เท่าทันมัน ก็ยิ่งทุกข์มากขึ้น

จากการที่ข้าพเจ้ามีความรู้ในศาสตร์ของโยคะแห่งสติ จึงเป็นเหตุปัจจัยที่เกื้อกูลต่อการเรียนรู้ความเป็นจริงของชีวิตมากขึ้น เพราะเมื่อฝึกท่าอาสนะเพื่อสร้างสมดุล เช่นคันไถครึ่งตัวที่ทำแล้วรู้สึกบีบคั้นกับความไม่สบายทางกายที่อยู่ในสภาวะที่ทนอยู่ได้ยาก

 ดังนั้นขณะที่กำลังฝึกอาสนะนั้นถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งในการเรียนรู้แบบจำลองชีวิต ที่มีทั้งความรู้สึกทุกข์ สุข เฉย ๆ โดยใช้ร่างกายที่เคลื่อนไหวไปในอาสนะต่าง ๆ พร้อม ๆ ไปกับการรับรู้การเคลื่อนไหวของจิต โดยใช้ใจเป็นผู้ดู เป็นผู้เห็น โดยไม่เข้าไปแทรกแซง ไม่เข้าไปปรุงแต่ง ไม่เข้าไปเป็น ค่อย ๆ ฝึกตามรู้เท่าทันให้เห็นการวางตำแหน่งของใจตามความเป็นจริง แล้วนำไปสู่ใจที่วางแล้วที่มีความเป็นกลางมากขึ้น ๆ ตามลำดับ เห็นความเชื่อมโยงของจังหวะลมหายใจที่อยู่ระหว่างกายกับใจในสถานการณ์ต่าง ๆ เมื่อนั้นพลังแห่งการปล่อยวางในขณะที่เราอยู่กับปัจจุบันจะปรากฎให้เห็นเด่นชัด ไม่เพียงแต่ความรู้สึกทุกข์เท่านั้นที่ปล่อยวางได้ แม้แต่ความสุขที่ไม่ใช่สุขแท้ เป็นสุขที่เราอยากได้เพิ่ม แม้ไม่ได้ก็ทุกข์ นั่นคือสุขเทียม ก็ไม่สามารถพันธนาการกับจิตใจของเราได้

เราอาจทดสอบพลังแห่งการปล่อยวางในห้องเรียนที่ดีที่สุดด้วยตัวเองในวิธีง่าย ๆ โดยการใช้มือซ้ายกำข้อมือขวา แล้วรับรู้ความรู้สึกเปรียบเทียบตอนที่มือขวากำอยู่ (ยึดมั่น ถือมั่น) กับตอนที่มือขวาค่อย ๆ กางมือเหยียดนิ้วคลายออก(ปล่อยวาง) แล้วรับรู้ความรู้สึกจากมือซ้ายว่าตอนไหนเรารับรู้ว่ามีพลังมากกว่ากันระหว่างพลังแห่งการยึดมั่นถือมั่น หรือพลังแห่งการปล่อยวาง


เขียนโดย ; ดล เกตน์วิมุต (ครูดล) 

โยคะสารัตถะ ฉ.; เม.ย.'๕๒
จาก http://www.gotoknow.org

วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554

โลกนี้คืออะไรแน่?


โลกเรานี้       ที่แท้    คือโรงละคร
ไม่ต้องสอน    แสดงถูก   ทุกวิถี
ออกโรงกัน    จริงจัง       ทั้งตาปี
ตามท่วงที      อวิชชา      จะลากคอ

โลกนี้คือ   กรงไก่     เขาใส่ไว้
จะนำไป    แล่เนื้อ    ไม่เหลือหลอ
จิกกันเอง   ในกรง    ได้ลงคอ
เฝ้าตั้งข้อ    รบกัน     ฉันนึกกลัว...เอยฯ

โดย พุทธทาส  อินฺทปญฺโญ

วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ปากอย่าง ใจอย่าง


มีปากอย่าง  ใจอย่าง  หนทางสุข
ไม่เกิดทุกข์  เพราะยึดมั่น  ฉันแถลง
ว่าคำพระ  พุทธองค์  ทรงแสดง
อย่าระแวง  ว่าฉันหลอก  ยอกย้อนเลย

อย่ายึดมั่น  สิ่งใดๆ  ด้วยใจตู
ว่าตัวกู  ของกู  อยู่เฉยๆ
ปากพูดว่า  ตัวกู  อยู่ตามเคย
ใจอย่าเป็น  เช่นปากเอ่ย  เหวยพวกเราฯ

โดย พุทธทาส  อินฺทปญฺโญ

วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ความอยาก


อันความอยาก  จะระงับ  ดับลงได้
นั้นมิใช่  เพราะเรา  ตามสนอง
สิ่งที่อยาก  ให้ทัน  ดั่งมันปอง
แต่เพราะต้อง  ฆ่ามัน  ให้บรรลัย

ให้ปัญญา  บงการ  แทนร่านอยาก
ความร้อนไม่  มีมาก  อย่าสงสัย
ทั้งอาจผลิต  กิจการ  งานใดๆ
ให้ล่วงไป  ด้วยดี  มีสุขเย็นฯ

โดย พุทธทาส  อินฺทปญฺโญ

วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554

กิเลสคุย


คุยเสียดี  ที่แท้  แพ้กิเลส
น่าสมเพช  เตือนเท่าไร  ก็ไม่เห็น
ว่าเป็นทาส  กิเลส  อยู่เช้าเย็น
จะอวดเป็น  ปราชญ์ไป  ทำไมนา

ค้นธรรมะ  หาทางออก  อุ้มกิเลส
น่าสมเพช  จริง ๆ  เที่ยววิ่งหา
ตำรานี่  ตำรานั่น  สรรหามา
ได้เป็นข้า  กิเลสไป  สมใจเอยฯ

โดย พุทธทาส  อินฺทปญฺโญ

วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เป็นมนุษย์ หรือ เป็นคน?



เป็นมนุษย์ เป็นได้ เพราะใจสูง
เหมือนหนึ่งยูง มีดี ที่แววขน
ถ้าใจต่ำ เป็นได้ แต่เพียงคน
ย่อมเสียที ที่ตน ได้เกิดมา 

ใจสะอาด ใจสว่าง ใจสงบ
ถ้ามีครบ ควรเรียก มนุสสา
เพราะทำถูก พูดถูก ทุกเวลา
เปรมปรีดา คืนวัน สุขสันติ์จริง

ใจสกปรก มือมัว และร้อนเร่า
ใครมีเข้า ควรเรียก ว่าผีสิง
เพราะพูดผด ทำผิด จิตประวิง
แต่ในสิ่ง นำตัว กลั้วอบาย 

คิดดูเถิด ถ้าใคร ไม่อยากตก 
จงรีบยก ใจตน รีบขวนขวาย
ให้ใจสูง เสียได้ ก่อนตัวตาย
ก็สมหมาย ที่เกิดมา อย่าเชือนเอยฯ 

โดย พุทธทาส  อินฺทปญฺโญ

วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เดี๋ยวก่อนนะ - อย่ารอที่จะบอกคำว่า "รักแม่"


  • ครั้งยังเด็ก         แม่เรียกใช้             ให้ทำงาน
    มักแสดง           แฝงเกียจคร้าน       การผัดผ่อน
    เดี๋ยวก่อนนะ      รับคำไป                 ไม่ตัดรอน
    แต่ยังนอน         นิ้ง-นิ่ง                    ไม่ติงกาย
  • ครั้นเติบใหญ่      วัยทำงาน              ธุรกิจ
    เดี๋ยวก่อนนะ       ก็ยังติด                 ไม่ปลิดหาย
    วันนี้อ่าน             คำเดี๋ยวก่อน         จากนิยาย
    ขอเขียนไว้         ให้ลูกหลาน           อ่านเตือนใจ
  • ต่อไปนี้               เป็นเพียง             เรื่องเรียงร้อย
    น่าเศร้าสร้อย       ขอเชิญอ่าน        ช่วยขานไข
    เดี๋ยวก่อนนะ        อุทาหรณ์            สอนใครใคร
    ไม่อภัย               เพราะวาจา          มันราคิน
  • เรียกยายล็ก        เด็กของแม่         แต่ทำเฉย
    เสียงแม่เปรย       อยากพักผ่อน     นอนหัวหิน
    ฟังเสียงสน          ปนเสียงคลื่น       ยืนบนดิน
    แม่ถวิล                รอวัน                  ลูกหันมา
  • เดี๋ยวก่อนนะ        ฉันละงาน           การไม่ได้
    คนอื่นๆ               มีมากมาย           แม่ไม่หา
    แม่นอนรอ           ต่ออีก                หนึ่งสัปดาห์
    ทวงถามว่า          วันไหน              จะไปกัน
  • ฉันบอกแม่         งานมาก             ยากจะว่าง
    ใจนึกกร่าง         ธุรกิจ                  ที่คิดฝัน
    ไหนจะงาน        ไหนจะเรียน        เพียรสัมพันธ์
    แม่ก็รอ              ด้วยหวังมั่น         วันต้องการ
  • เดือนต่อมา         แม่ถาม              ความเก่าๆ
    แม่บอกเหงา       อยากไปสุข       สนุกสนาน
    ฉันบอกรอ          ซื้อรถดี              ไม่กี่นาน
    แม่ยิ้มหวาน        วันลูกพร้อม        ยอมรอ-รอ
  • รุ่งอีกเดือน         แม่เตือน            ฉันรำคาญ
    สั่งซื้อรถ            ตามต้องการ      ตามคำขอ
    อีกสัปดาห์         นะคะ                 ฉันพะนอ
    แม่นัดหมอ        ตรวจร่างกาย      ไม่ได้ไป
  • หมอให้แม่        อยู่ห้อง               ไอซียู
    มีโรคร้าย          ขอดู                   เพราะสงสัย
    เพียงสามวัน     แม่ไม่ดิ้น             แม่สิ้นใจ
    ฉันโศกา           อาลัย-แน่น         แสนเสียดาย
  • คำเดี๋ยวก่อน     ของฉัน             มันพูดพล่อย
    แม่เฝ้าคอย       ฉันว่าง              อย่างมุ่งหมาย
    กอดศพแม่       แก้อย่างไร        ไม่ให้ตาย
    คำเด๊่ยวก่อน     มันโหดร้าย        อนิจจา

วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กลอนสร้างฝัน สร้างกำลังใจ

วันนี้ฝนตก พายุแรงตั้งแต่เช้า ฟ้าฝ่าเปรี้ยงๆ ที่บ้านเป็นระยะๆ  บรรยากาศแบบนี้ชวนให้นึกถึงละครน้ำเน่า ที่พระเอกนางเอกมักจะติดฝนด้วยกัน และก็ให้บังเอิญมีกระท่อมร้างหลังน้อยตั้งอยู่กลางป่า หลังคารั่ว ทำให้พระเอกนางเอกต้องนั่งหลบฝนอยู่มุมห้องใกล้ชิดกัน หลังจากนั้นก็ ... จบข่าว :P

นั่นคือละคร  แต่ในชีวิตจริง มันไม่ได้ง่ายแบบนั้น น้ำฝนทีตกมา ฟ้าที่ร้องลั่น เปรียบเหมือนอุปสรรคที่เราต้องฝ่าฟัน และสร้างฝันให้เป็นจริง  ฟ้าหลังฝน ไม่ว่าในยุคใดสมัยใด นั้นสวยงามเสมอ

วันนี้จึงขอยืมบทกลอนที่จะเป็นกำลังใจ ให้กับทุกท่านที่กำลังเดินอยู่ท่ามกลางพายุฝน พายุอารมณ์ พายุเศรษฐกิจ ฯลฯ ขอให้เรายังมีหวัง มีกำลังใจ ขออย่ายอมแพ้ เชื่อมั่นในตนเอง และก้าวต่อไปข้างหน้า ความสำเร็จอยู่ไม่ไกลแน่นอนค่ะ   เป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ

          แต่เล็กจนเติบกล้า           ฝันเจิดจ้ายังแจ่มแสง
ฟ้ากว้างพายุแรง                       เธอยังแกร่งเจตนา

          ล้มลุกปลุกใจสู้               หมั่นเรียนรู้ทางเบื้องหน้า

ก้าวย่างอย่างสง่า                     ก้าวช้าช้าแต่มั่นคง

          ทีละนิ้วขยับใกล้              กลายเป็นไมล์ดั่งประสงค์

ทีละก้าวอย่างอาจอง               ทรนงสู่เส้นชัย

          ฝันเถิดหากจะฝัน            จงสร้างฝันอันยาวไกล

ฝันแล้วจงมุ่งไป                        สร้างฝันให้กลายเป็นจริง

         ขอเยาะเย้ยทุกข์ยาก        ความลำบากจากทุกสิ่ง

ขอหยามความทุกข์ยิ่ง              จะไม่ทิ้งความตั้งใจ

         ร้อยใจมาชื่นชม               ศักดิ์ศรีสม "คนรุ่นใหม่"

ร้อยมือประสานไว้                     อุปสรรคใดเกินต้านทาน

        ร้อยชิ้นความสำเร็จ           สร้างสรรค์เสร็จคนกล่าวขาน

ร้อยวันอันยาวนาน                    บรรณาการแด่ตัวเธอ

ประพันธ์โดย จินตการ

วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กาพย์ยานี 11

ลักษณะของกาพย์ยานี 11 ใน 1 บท มี 2 บาท  1 บาท มี 2 วรรค วรรคหน้า มี 5 คำ วรรคหลังมี 6 คำ รวมเป็น 11 คำ จึงเรียกว่า กาพย์ยานี 11   กาพย์ยานี 11 หนึ่งบท จะมี 22 คำ ซึ่งในการประพันธ์นั้นต้องประพันธ์อย่างน้อย 1 บท หรือ 4 วรรคเสมอ

แผนผังกาพย์ยานี 11


ตัวอย่างกาพย์ยานี 11 (1)

ขึ้นกกตกทุกข์ยาก              แสนลำบากจากเวียงชัย
มันเผือกเลือกเผาไฟ          กินผลไม้ได้เป็นแรง

รอนรอนอ่อนอัสดง            พระสุริยงเย็นยอแสง
ช่วยดังน้ำครั่งแดง              แฝงเมฆเขาเมรุธร

ตัวอย่างกาพย์ยานี 11 (2)

โลกมนุษย์สุดซึ้ง               เราควรพึงสังวรณ์ไว้
สิ่งใดที่ผ่านไป                   ควรทำใจไม่จดจำ

ในวันทุกวันนี้                     จากคำที่จำนรรจา
หลอกลวงด้วยมายา          อนิจจาน่าเศร้าใจ

พูดคำก็กลับกลอก              ทั้งหลอนหลอกและเหลวไหล
สอพลอส่อเสียดไป            ใส่ไคร้ให้ไม่กลัวกรรม

ความดีควรทำบ้าง             เวลาว่างก็ทำธรรม
ศีลห้าน่าจะนำ                    มาปฏิบัติขัดจิตใจ

เมืองไทยจะน่าอยู่              เพราะทุกผู้รู้จักให้
โอ้ฉันนั้นหวังไว้                 ว่าคนไทยเข้าใจดี

ประพันธ์โดย น้ำใจ ใจดี

สาลินีฉันท์ 11

นีฉันท์ แปลว่า ฉันท์ที่มากไปด้วยครุซึ่งเปรียบเหมือนแก่นหรือหลัก

รูปแบบการแต่ง   

มี 4 วรรค  วรรคหน้า 5 คำ  วรรคหลัง 6 คำ แต่งโดยใช้คำครุ (สระ อะ)  ลหุ (สระอุ) ในการแต่ง การสัมผัสจะเป็นคำสุดท้ายของวรรคที่ 2 สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ 3 (ดูแผนผังประกอบ)

แผนผังของสาลินีฉันท์ 11



ตัวอย่างสาลินีฉันท์ 11 (1)

เกียจคร้านทำการงาน           บ่มีบ้านจะอาศัย
เกิดมาเป็นคนไทย                 ฤควรท้อระย่องาน

ตัวอย่างสาลินีฉันท์ 11 (2)



ตัวอย่างสาลินีฉันท์ 11 (3)

ยลเนตร์แลเกษแก้ม              กละแย้มสุมาลี
ยลพักตร์ดั่งเพ็ญศรี               ศศิเด่นณะเพ็ญวัน

ยลศอลออเอี่ยม                   ยละเยี่ยมยุคลกัน
ยลกรบังอรปาน                    ละก็งวงคเชนทร

ยลเอวเอวอ่อนเอื้อ              ดุจะเกื้อฤทัยถอน
ยลนาฏเมื่อยาตร์จร              มยุร์เยื้องก็ปานกัน

ยลรูปยิ่งราคเร้า                    มนะผ่าวฤดีหรรษ์
ยลร่างดั่งอินทร์สรร              สถิต์ฐาปนานวล

ยลจริตเมื่อหล่อนอาย           ก็ลม้ายมนัสกวน
ยลโฉมภิรมย์ชวน                 ชิระแรกกำดัดงาย

ยลสร้อยที่ห้อยคล้อง           ดุจะน้องน๊ะคล้องชาย
ยลโสตร์ที่แกว่งไกว             ดุจะกวักพะยักชม

ยลสายเข็มขัดรัด                  ดุจะมัคกมลโทรม
ยลแหวนก็แสนสม                 ดุจะส่อแสวงชาย

ที่มา: หนังสือกายนคร

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วสันตดิลกฉันท์ ๑๔

วสันตดิลก หมายถึง รอยแต้มที่กลีบเมฆในฤดูฝน น่าจะหมายถึง ฉันท์อันมีลีลาว่าฤดูฝนได้เริ่มต้นแล้ว

คณะและพยางค์
ฉันท์ บทหนึ่งมี  ๒  บาท  บาทหนึ่งมี  ๒ วรรค  วรรคต้นมี ๘ คำ วรรคท้ายมี ๖ คำรวมทั้งบาทมี ๑๔ คำ

สัมผัส  มีสัมผัสในบทสองแห่ง  คือ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑  สัมผัสกับคำที่ ๓  ของวรรคที่  ๒  และ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒  สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓

สัมผัสระหว่างบท  คือ  คำสุดท้ายของบท  สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ของบทต่อไป

คำครุ  ลหุ  บทหนึ่งมีคำครุทั้งหมด  ๑๔  คำ  คำลหุ  ๑๔  คำ  บังคับ ครุ และลหุ ตามที่เขียนไว้ในแผน


ตัวอย่างวสันตดิลกฉันท์ ๑๔ (1)

เสนออรรถพิพัฒนศุภมง              คลลักษณ์ประจักษ์ความ
ครบสี่และมียุบลตาม                    ชินราชประกาศแสดง
ชาติชายไฉนจะละอุสา                 หะมิกล้าจะฝึกปรือ
ปราศวิทย์เพราะปราศวิริยะคือ      พิณแห้งพินิจเห็น

ตัวอย่างวสันตดิลกฉันท์ ๑๔ (2)

แสงดาววะวาวระกะวะวับ              ดุจะดับบเดนดวง
แขลับก็กลับพิภพรสรวง                มิสรพรึบพะพราวเพรา
เคยเห็น ณ เพ็ญพระรศมี               รชนีถนัดเนา
เหนือนั่นแน่ะจะสละเงา                 กลเงินอร่ามงาม

โดย : ชิต  บุรทัต

อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ จะมีแบบแผนเหมือนกับ กาพย์ยานี ๑๑  แต่เพิ่ม ครุ,  ลหุ เข้าไป อินทรวิเชียร แปลว่า เพชรพระอินทร์ หมายถึง ฉันท์ที่มีลีลาอย่างเพชรของพระอินทร์ นิยมใช้แต่งข้อความที่เป็นบทชมหรือบทคร่ำครวญนอกจากนี้ยังแต่งเป็นบทสวด หรือพากย์โขนด้วย

คำครุ
หมายถึง คำที่ประสมด้วยสระเสียงยาวในแม่ ก กา เช่น กา ตี งู กับคำที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นหรือยาวก็ได้ที่มีตัวสะกด เช่น นก บิน จาก รัง นอน และคำที่ประสมด้วยสระ อำ ไอ ใอ เอา ซึ่งถึอว่าเป็นเสียงมีตัวสะกด

คำลหุ
หมายถึง คำที่ประสมด้วยสระเสียงสั้นในแม่ ก กา เช่น จะ ติ มุ เตะ และคำที่ใช้พยัญชนะคำเดียว เช่น ก็ บ่ ณ ธ นอกจากนี้คำที่ประสมด้วย สระอำ บางทีก็อนุโลมให้เป็นคำลหุได้ เช่น ลำ
คำลหุ เวลาเขียนเป็นสัญลักษณ์ ใช้เครื่องหมายเหมือนสระอุ แทน

แผนผังของอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

ั ั ุ ั ั           ุ ุ ั ุ ั ั
ั ั ุ ั ั           ุ ุ ั ุ ั ั

ตัวอย่างอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ (1)

เสนอโทษะเกียจคร้าน            กิจการนิรันดร
โดยอรรถะตรัสสอน                กลหกประการแถลง

ตัวอย่างอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ (2)

ราชาพระมิ่งขวัญ            สุนิรันดร์ประเสริฐศรี
ไพร่ฟ้าประดามี              มนชื่นสราญใจ
ทรงเป็นบิดรราษฎร์         กิติชาติขจรไกล
กอปรบารมีชัย                ชุติโชติเชวงเวียง

ตัวอย่างอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ (3)

พวกราชมัลโดย             พลโบยมืใช่เบา
สุดหัตถแห่งเขา             ขณะหวดสิพึงกลัว
บงเนื้อก็เนื้อเต้น            พิศเส้นสรีระรัว
ทั่วร่างและทั้งตัว           ก็ระริกระรัวไหล

ที่มา: หนังสือร้อยรสพจมาน

ตัวอย่างอินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑ (4)

ยังเหล่าลดาวัลย์             สุวคันธบุปผา
เผยคลี่ผิคลายมา            ลยะแย้มพเยียสยาม
ก้านช่อลอออ่อน             อรชรสลอนราย
หมู่ผึ้งภมรกราย               จรเกลือกประทิ่นเกลา

ที่มา:  ชิต  บุรทัต

โคลงกลบท

โคลงกลบท คือ โคลงสุภาพ แต่ใช้วิธีรจนาคล้ายๆ กลอนกลบท คือโยกโย้เล่นต่างๆ

ตัวอย่าง

ฝนตกนกร้องร่ำ                 ครวญคราง
ครางครวญถึงนวลนาง     โศกเศร้า
เศร้าโศกร่ำแต่ปาง            ไปจาก
จากไปเรียมไฉนเจ้า          พี่เพี้ยงตรอมตายฯ

จากหนังสือ จินดามณี

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กระทู้พันธวีสติ (จาก จินดามณี)


พี่        พบ         รักษ์          ชู้          ช่าง        วิงวอน
เยาว   สวาท     ครวญ       คนึง      นอน       แนบน้อง
เจ้า     คลาศ     ป่วน         ถึง         สมร       เสมอหนึ่ง
หลบ   ภักตร์      อยู่           นาง      ข้อง       คึ่งแค้นฤาไฉนฯ

หมายเหตุ  อ่านลงมาเป็นแถว ได้ความต่อกันเป็นกลอน    และถ้าอ่านจากซ้ายไปขวาตามปกติ จะเป็นโคลง

ลักษณะโคลงกระทู้แบบนี้ ไม่ค่อยพบในหนังสือใดๆ นอกเหนือไปจากหนังสือ "จินดามณี"

ทุกข์เอ๋ย ทุกข์กาย (โครงสี่สุภาพ)


ทุกข์  กายใครที่ได้           เจอมัน
ทุกข์  เหล่านั้นกีดกัน        ทั่วด้าน
ทุกข์  อันร้ายยิ่งนั้น          คือทุกข์ใจนา
ทุกข์  ที่ทำให้ท่าน            กลัดกลุ้มจิตนาน

(บทกลอนโดย น้ำใจ ใจดี)

บทไหว้ครู

ขอประนมก้มประณตเบื้อง       เบญจางค์
ต่างประทีปกลีบประทุมวาง     หว่างเกล้า
แด่สถูปรูปสถิย์กลาง               แก้วครอบ
ขอพำนักภักดิ์พำนิตย์น้าว      หน่วงไว้ เหนือเศียรฯ

แต้มตำนานขานตำแหน่งเบื้อง    บุรพ์กาล
เรียงระเบียบเรียบระเบงบรรณ     ระบุพร้อม
เริ่มนิพัทธ์หัดนิพนธ์พันธ์            เพียรพากย์
ใช่ชำนิผลิชำนาญก้อง               เกริกด้าว แดนกวีฯ

ขอดำรงยงดำริห์เพี้ยง            เพ็ญแข
ร่ำประดิษฐ์คิดประดุจแก        เดือดช้ำ
วานสกิดจิตร์สกัดแล             เกลากิเลส
มารมล่ายคลายมฤตก้ำ         กีดเก้า โลกุดรฯ

กลกลอนกลาดเกลื่อนกลั้ว    กายนคร
ใส่สลับสับสลอน                  เลอะแท้
ลืมอุทัศน์ขาดอุธรณ์            นิรโทษ
พลั้งสฤษดิ์ผิดสลัดแท้         กลับด้วย ยินดีฯ

จาก กายนคร (ฉันท์ ขำวิไล)

กลอนไหว้ครู


ศิษย์คำนึงถึงพระคุณของคุณครู
ผู้เฝ้าดูแลชี้นำด้วยคำสอน
ศิษย์จึงบรรจงจัดคัดบทกลอน
และร้อยกรองแทนเทียนทองของบูชา

เป็นพลังสั่งสอนศิษย์คิดสิ่งถูก
เป็นเครื่องปลูกโลกกว้างทางศึกษา
ได้ความรู้เรื่องหลักอักษรา
สร้างวิชาเลื่องไปในทุกทาง