วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

บาปใหญ่ บาปลึก


พยศคน ธรรมดา ไม่น่าคิด
มันย่อมมี ประจำจิต กันอยู่ทั่ว
พยศของ คนตรง ซิน่ากลัว
มันหลอนตัว ลึกซึ้ง พึงพินิจ

ถือว่าตัว ตรงจริง จึงยิ่งยึด
ไว้เต็มอึด เรื่อยไป อยู่ในจิต
จะนอนนิ่ง ก็คลุ้มคลั่ง คอยแต่คิด
ว่า “เราถูก เขาผิด” อยู่ร่ำไป

คิดว่าดี กว่าเขา ซิเราแย่
มันเพียงแต่ ดีกว่าคน ที่บาปใหญ่
ส่วนตัวเอง บาปลึก นึกให้ไกล
มันบาปเบา อยู่เมื่อไหร่ ให้นึกดู

เขาติดซ้าย เราติดขวา ถ้ามานึก
มันยังติด เหลือลึก กันทั้งคู่
แม้ติดซ้าย เลวกว่า ไม่น่าดู
แต่ติดขวา มันก็หรู อยู่เมื่อไร

มันเพียงแต่ ดีกว่าคน ที่ยังเลว
ส่วนตัวเอง ก็ยังเหลว ไม่ไปไหน
เฝ้าเกลียดซ้าย รักขวา เป็นบ้าใจ
มันก็ไพล่ พลัดห่าง ทางนิพพาน ฯ

โดย พุทธทาส  อินฺทปญฺโญ

วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ช่างหัวมัน


จงยืนกราน สลัดทั่ว “ช่างหัวมัน”
ถ้าเรื่องนั้น เป็นเหตุ แห่งทุกข์หนา
อย่าสำออย ตะบอยจัด ไว้อัตรา
ตัวกูกล้า ขึ้นเรื่อยไป อัดใจตาย

เรื่องนั้นนิด เรื่องนี้หน่อย ลอยมาเอง
ไปบวกเบ่ง ให้เห็นว่า จะฉิบหาย
เรื่องเล็กน้อย ตะบอยเห็น เป็นมากมาย
แต่ละราย รีบเขวี้ยงขว้าง ช่างหัวมัน

เมื่อตัวกู ลู่หลบ ลงเท่าไหร่
จะเย็นเยือก ลงไป ได้เท่านั้น
รอดตัวได้ เพราะรู้ใช้ “ช่างหัวมัน”
จงพากัน หัดใช้ ไว้ทุกคนฯ

โดย พุทธทาส  อินฺทปญฺโญ

วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สหายเอ๋ย !


สหายเอ๋ย "ตัวเรา" มิได้มี
แต่พอเผลอ "ตัวเรา" มี ขึ้นมาได้ 
พอหายเผลอ "ตัวเรา" ก็หายไป 
หมด"ตัวเรา" เสียได้ เป็นเรื่องดี

สหายเอ๋ย จงถอน ซึ่งตัวเรา 
และถอนทั้ง "ตัวไท" อย่างเต็มที่ 
ให้มีแต่ ปัญญา และปราณี 
อย่าให้มี "เรา - เขา" เบาเหลือเอย

โดย พุทธทาส  อินฺทปญฺโญ

วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เย็นอยู่ ด้วยจิตว่าง


จงทำงาน  ทุกชนิด  ด้วยจิตว่าง
ยกผลงาน  ให้ความว่าง  ทุกอย่างสิ้น
กินอาหาร  ของความว่าง  อย่างพระกิน
ตายเสร็จสิ้น  แล้วในตัว  แต่หัวที

ท่านผู้ใด  ว่างได้  ดังว่ามา
ไม่มีท่า  ทุกข์ทน  หม่นหมองศรี
"ศิลปะ"  ในชีวิต  ชนิดนี้
เป็น "เคล็ด" ที่ใครคิดได้ สบายเอยฯ

โดย พุทธทาส  อินฺทปญฺโญ


-------------------------
การทำงานด้วยจิตว่าง  หมายถึง  การทำงานด้วยความมีสติ  จิตใจไม่วอกแวก เหม่อลอย ปราศจากกิเลสตัณหา  มีความมุ่งมั่นในการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ


ความว่างนั้น ตรงกับภาษาบาลีว่า “สุญญตา”  

จิตว่าง  หมายถึง   จิตที่ว่างจากกิเลสตัณหา   ไม่เจือด้วย โลภะ โทสะ โมหะ   เป็นจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น  จิตที่บริสุทธิ์  จิตที่มีสติ

จิตวุ่น  เป็นคำตรงกันข้ามกับจิตว่าง   การปรุงแต่งเป็นเหตุให้จิตวุ่น นั่นเอง และทำให้เป็นทุกข์

คนเราธรรมดามีจิตว่างอยู่เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว  ไม่ใช่จิตวุ่นเป็นพื้นฐาน

วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

มองแต่แง่ดีเถิด


เขามีส่วน  เลวบ้าง  ช่างหัวเขา
จงเลือกเอา ส่วนที่ดี เขามีอยู่
เป็นประโยชน์  โลกบ้าง  ยังน่าดู
ส่วนที่ชั่ว  อย่าไปรู้  ของเขาเลย

จะหาคน  มีดี  โดยส่วนเดียว
อย่ามัวเที่ยว  ค้นหา  สหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหา  หนวดเต่า  ตายเปล่าเอย
ฝึกให้เคย  มองแต่ดี  มีคุณจริงฯ

โดย พุทธทาส  อินฺทปญฺโญ

วันพุธที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ความสุข


ความเอ๋ย ความสุข 
ใครๆ ทุก  คนชอบเจ้า  เฝ้าวิ่งหา
"แกก็สุข"  ฉันก็สุข  ทุกเวลา 
แต่ดูหน้า  ตาแห้ง  ยังแคลงใจ

ถ้าเราเผา  ตัวตัญหา  ก็น่าจะสุข 
ถ้ามันเผา  เราก็ "สุก"  หรือเกรียมได้
เขาว่าสุข  สุขเน้อ!  อย่าเห่อไป 
มันสุขเย็น  หรือสุกไหม้  ให้แน่เอย

โดย พุทธทาส  อินฺทปญฺโญ


---------------------
สุขสำราญคู่กับ ทุกข์ทรมาน
ความสุขสำราญที่ไม่มีธรรมะเป็นรากฐาน ก็คือความทุกข์ทรมานที่กำลังรอเวลาอยู่ !

สุขสงบ – สุขสนุก
สุขแท้ เกิดจากความสงบเท่านั้น ส่วนที่เกิดจากความวุ่นวายนั้น เป็นเพียงความสนุก หาใช่ความสุขไม่ !

สุขแท้ – สุขเทียม
ความสุขที่แท้จริง เป็นสิ่งที่ต้องได้มาเปล่าๆ โดยไม่ต้องเสียสตางค์ เหมือนดั่งที่ตรัสว่า ถอนความรู้สึกว่าตัวตนเสียได้แล้ว ก็ได้นิพพานมาเปล่าๆ ไม่ต้องเสียมูลค่าอะไร

ส่วนความสุขเทียม หรือความเพลิดเพลินที่หลอกลวงนั้น ใช้เงินซื้อมาเท่าไรก็ไม่รู้จักพอ จนตัวตาย ก็ไม่พบกับความสุขที่แท้จริง!

ความสุขอันประเสริฐ
อย่ามุ่งหมาย ความสุขอันประเสริฐอะไรๆ ให้มากไปกว่าความปกติของจิต ที่ไม่ยินดียินร้าย ไม่ขึ้นไม่ลงไปตามอารมณ์ที่กระทบเพราะไม่มีสุขอะไรประเสริฐยิ่งไปกว่าความปกติของจิตนั้น